ผู้เยี่ยมเยียน
![]() | Today | 53 |
![]() | Yesterday | 99 |
![]() | This Week | 459 |
![]() | This Month | 1713 |
![]() | All Days | 1134207 |
![]() |
![]() |
![]() |
สิ่งที่เหนี่ยวรั้งให้เธอยังอยู่ในแนวทางอิสลาม เรื่อง/ภาพ ดาวุด ลาวัง สิ่งที่เหนี่ยวรั้งให้เธอยังอยู่ในแนวทางอิสลาม
หกโมงเช้าของทุกวันป้าพิกุล หรือฮาลีมะฮ์ ขุนทอง จะปั่นจักรยานคู่ใจไปรับขนม แล้วตระเวนขายไปตามตรอกตามซอยต่างๆ แถบแถวคู้ล่าง ก่อนจะกลับเข้าบ้านตอนสิบโมงเช้า นี่คืออาชีพเดียวที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องป้าพิกุลกับลูกสาว ป้าพิกุลเข้ารับอิสลามเมื่อยี่สิบห้าปีที่แล้ว เนื่องจากแต่งงานกับคนมุสลิม แต่สิบปีต่อมาสามีของเธอก็เสียชีวิต อะไรที่ทำให้เธอยังคงยืนหยัด ในอิสลามแม้ต้องต่อสู้เพียงลำพัง“ป้าเป็นคนยโสธร ที่หมู่บ้านก็มีทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ แต่ไม่มีศาสนาอิสลามเลย ป้าก็ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับอิสลาม แต่เดิมป้าก็นับถือศาสนาคริสต์ พ่อแม่เป็นคริสต์ พอจบ ป.4 ที่บ้านก็ให้เรียนที่โรงเรียนอาเวมารียา อุบลราชธานี จะให้บวชเป็นแม่ชีซิสเตอร์ เสร็จแล้วสอบตก มศ.3 ก็เลยมาเข้ากรุงเทพ มาทำงานเป็นแม่บ้าน”หลังจากทำงานเป็นแม่บ้านได้ 1 ปี ป้าพิกุลก็ออกมาทำงานเป็นสาวโรงงานแถวถนนตก ชีวิตช่วงนี้เธอก็ยังแวะเวียนไปสวดมนตร์ที่โบสถ์ทุกวันอาทิตย์ จนเมื่อโรงงานย้ายมาอยู่แถวหัวหมาก ป้าพิกุลก็ย้ายมาเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆ โรงงาน ชีวิตช่วงนี้เองที่ป้าพิกุลมีโอกาสได้อยู่ท่ามกลางชุมชนมุสลิม และตรงนี้เองที่ทำให้ป้าพิกุลได้พบรักกับสามี จนในที่สุดก็ตัดสินใจแต่งงานกัน ป้าพิกุลเข้ารับอิสลามและใช้ชีวิตอยู่แถวซอยลาดพร้าว 112หลังจากเข้ารับอิสลาม ทางครอบครัวของสามีป้าพิกุลก็สอนวิธีการละหมาด รวมทั้งคำอ่านต่างๆ นอกจากนั้นป้าพิกุลเองก็ศึกษาจากหนังสือหัดละหมาด วีดีโอการละหมาด รวมทั้งการฟังเทปบรรยายเกี่ยวกับการละหมาดของอาจารย์อิสมาแอล วิสุทธิปราณีด้วย ถึงแม้จะเป็นมุสลิมใหม่ แต่ป้าพิกุลก็ละหมาดไม่เคยขาด “เราเปลี่ยนศาสนาแล้ว ก็ไม่อยากเหยียบเรือสองแคม ต้องทำให้ดีที่สุดในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง กฎระเบียบศาสนาเป็นยังไง ก็ต้องศึกษาเรียนรู้ แล้วเราก็ทำมาเรื่อยๆ ไหนๆเราเป็นมุสลิมแล้ว ก็ต้องทำให้ดีนะ” ป้าพิกุลบอกเล่าถึงความตั้งใจของเธอ
ชีวิตที่ปกติสุขก็ต้องมาสะดุดเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เมื่อสามีของป้าพิกุลเสียชีวิตเมื่อปี 2544 “พอสามีเสียแล้ว ญาติพี่น้องเราก็ชวนให้กลับไปอยู่บ้าน เพราะเราตัวคนเดียว ไม่มีใครแล้ว เขามาถามว่าทำไมไม่กลับไปอยู่กับญาติพี่น้อง ไม่กลับไปเป็นคริสต์ สามีก็เสียแล้ว เราก็บอกว่า ไหนๆ เราก็มาแล้ว ตั้งใจเป็นมุสลิมเราไม่กลับไปแล้ว จิตใจเราฝังรากอยู่ตรงนี้แล้ว ถ้าตายเราก็ฝังที่นี่ เราไม่กลับไปแล้ว เราไม่เคยคิดจะกลับไปเป็นคริสต์เลย” กำลังใจสำคัญที่ทำให้ป้าพิกุลยืนหยัดอยู่ในศาสนาอิสลามก็คือป้าพิกุลมั่นใจในความเมตตาของอัลลอฮฺ “เวลาที่เรานึกท้อ เราก็ขอดุอาอฺ ขอเป็นภาษาไทยเลย แล้วเราสังเกตว่าเวลาขอดุอาอฺขออะไร ถึงนานกว่าจะได้ แต่ก็ได้ตามที่เราปรารถนาทุกครั้ง เวลายังไม่ได้ เราก็คิดของเราว่าสักวันนึงอัลลอฮฺก็ให้เอง เรามั่นใจ นานหน่อยไม่เป็นไร เราสังเกตนะ ว่าเราขออะไร เราได้ตลอด อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ขอบคุณอัลลอฮฺ อัลลอฮฺไม่ทอดทิ้งเรา” ปัจจุบันป้าพิกุลอายุ 63 ปี หลังจากสามีเสียเมื่อ 14 ปีก่อน เธอก็ออกหางานทำสารพัด ไม่ว่าจะออกไปขายของที่ร้านขายผลไม้แถวถนนสุขาภิบาลสาม ต่อมาก็ไปทำงานรับจ้างที่ร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเธอก็ทำงานที่นี่ได้ไม่นานนัก เนื่องจากอายุค่อนข้างมาก ทำให้บางครั้งจดเมนูผิด หลายครั้งที่ลืมว่าลูกค้าสั่งอะไร จนสุดท้ายป้าพิกุลก็มาลงหลักปักฐานที่อาชีพขี่จักรยานขายขนมตามบ้าน ถึงแม้รายได้จะน้อยนิด แต่ก็เพียงพอเลี้ยงชีวิตป้าพิกุลกับลูกสาวได้ ทุกครั้งที่ชีวิตประสบความยากลำบาก สิ่งเดียวที่ป้าพิกุลพร่ำสอนลูกสาวอยู่เสมอก็คือให้ขอดุอาอฺ ทุกๆ วันหลังกลับจากขี่จักรยายขายขนม ป้าพิกุลก็จะใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือหาความรู้เกี่ยวกับศาสนา รวมทั้งปลีกเวลาไปเข้าอบรมศาสนาที่จัดตอนวันอาทิตย์ที่สามของเดือนที่โรงเรียนศาลาคู้ ความตั้งใจอันใกล้ของป้าพิกุลก็คืออยากจะท่องอัลกุรอานซูเราะฮฺอันนาสและอัลฟะลักให้ได้ เพราะตอนนี้เธอท่องได้แค่ซูเราะฮฟาติฮะห์และซูเราะฮฺอัลอิคลาส “อลีฟ บา ตา พออ่านได้บ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่ยังอ่านกุรอานไม่ได้ ได้แค่หัดผสมคำ ฟาติฮะห์ท่องได้ กุลฮุวัลลอฮฺท่องได้ ได้กุ้ลเดียว อีกสองกุ้ลพยายามท่องอยู่ เพราะเราก็อายุเยอะแล้ว ความจำไม่ค่อยดี แต่ในเมื่อเราเป็นมุสลิมแล้ว เราก็ตั้งใจทำให้ดีที่สุด อันไหนที่ไม่รู้ก็ถามคนอื่นเขา เราอายุป่านนี้แล้ว เราก็ทำของเราไปเรื่อยๆ
ทุกวันนี้เราก็สอนลูกว่าพยายามละหมาดนะ เราขอ เดี๋ยวอัลลอฮฺให้เราเอง "เราไม่ต้องไปท้อ สิ่งไหนเรายังไม่ได้ ไม่ต้องไปท้อ อัลลอฮฺไม่ทอดทิ้งเรา” ป้าพิกุลพูดทิ้งท้าย
|